CHULALONGKORN HOSPITAL

พระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ด้วยวิธีการรักษาตามแบบแพทย์แผนปัจจุบันหรือตะวันตก เริ่มขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ที่ทรงปฏิรูปและพัฒนาประเทศในทุกด้าน เพื่อให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ เป็นผลให้เกิดการก่อตั้ง สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม เมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๖ เพื่ออนุเคราะห์ช่วยเหลือทหารบาดเจ็บ จากเหตุการณ์กรณีพิพาทกับฝรั่งเศส ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) ต่อมาในพุทธศักราช ๒๔๔๙ มีพระราชดำริให้สร้าง โรงพยาบาลของสภาอุณาโลมแดง ขึ้น แต่ประสบปัญหาเรื่องที่ดินในการปลูกสร้าง จึงต้องระงับไปชั่วคราว เรื่องนี้ยังไม่ทันดำเนินการสำเร็จตามพระราชประสงค์ ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน ดังนั้นเมื่อมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) พระองค์ทรงมองเห็นความสำคัญและความจำเป็นในการพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุข มาตั้งแต่ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทอดพระเนตรเห็นสภากาชาดญี่ปุ่นมีโรงพยาบาลเพื่อดำเนินกิจการของสภากาชาด มาแต่เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินกลับจากการศึกษาผ่านประเทศญี่ปุ่น ทำให้ทรงเห็นว่าสภากาชาดสยามในครั้งนั้นยังดำเนินการไปได้ไม่ถูกต้องตามแนวทางหรือหลักการของกาชาดสากล จึงทรงสืบทอดพระราชดำริของสมเด็จพระบรมชนกนาถ ในการจัดตั้ง โรงพยาบาลในสังกัดสภากาชาดขึ้น ทั้งยังพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ ริมถนนพระรามที่ ๔ เนื้อที่ประมาณ ๑๔๑ ไร่ ๔๘ ตารางวา เพื่อสร้างโรงพยาบาลด้วยพระราชทรัพย์จากพระราชโอรส พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๔๒ พระองค์ เป็นจำนวน ๑๒๒,๙๑๐ บาท การก่อสร้าง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๔ หลังจากที่การก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิด เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๕๗

โดยมีเป้าหมายให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นโรงพยาบาลที่ดีถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติถวายเป็นพระราชกุศล พร้อมทั้งเผยแผ่พระเกียรติคุณ สืบทอดพระราชปณิธานในการให้ความสำคัญต่อการแพทย์และการสาธารณสุขของไทยเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ ช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล ให้บริการรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บ และผู้ป่วยไข้ทั้งในยามสงคราม และยามปกติ โดยยึดมั่นในปณิธานอันแน่วแน่ ในการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บทั่วไป โดยไม่เลือกชนชาติ ชั้นวรรณะ ลัทธิ ศาสนาหรือผู้มีความคิดเห็นต่างทางการเมือง

เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตร ณ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยมหิดล) พระองค์ท่านได้พระราชทานพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า “…พระองค์มีพระราชประสงค์ให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ผลิตแพทย์ผู้ได้สำเร็จหลักสูตรให้มีปริมาณมากขึ้น เพื่อออกมาช่วยเหลือประเทศชาติ…” โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นโรงเรียนแพทย์ จึงได้รับการประสานงานจากรัฐบาลให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งที่สองของประเทศไทย โรงเรียนแพทย์แห่งใหม่นี้ถือกำเนิดในนาม “คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” จนกระทั่งมีมติให้โอนคณะที่ซ้ำซ้อนของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ให้กับมหาวิทยาลัยเดิมที่เป็นรากฐานของคณะนั้น ๆ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงถูกโอนมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในนามใหม่ว่า “คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” โดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการร่วมกัน โดยพัฒนาการบริการและเทคโนโลยีการรักษาให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงสร้างบัณทิตแพทยศาสตร์ที่มีคุณภาพและคุณธรรมเพื่อช่วยเหลือประเทศชาติตามพระบรมราโชวาทที่สมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ ได้มีพระบรมราโชวาทไว้

Follow us: